รู้จัก ‘รักษาแบบประคับประคอง’ ดูแลผู้ป่วย เมื่อหมดทางรักษาให้หายได้

‘เปเล่’ ในวัย 82 ปี ที่ป่วยด้วยมะเร็งลำไส้ ขณะนี้ ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด

จนทำให้แพทย์หยุดการทำเคมีบำบัด และเปลี่ยนมาเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของร่างกาย กรุงเทพธุรกิจพาเจาะลึกว่าการรักษาแบบประคับประคองดียังไง เมื่อมีวันรุ่งโรจน์ ก็ย่อมมีวันโรยรา สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่สามารถกำหนดได้ คืออายุที่เพิ่ม และอาการเสื่อมสภาพของร่างกาย รวมถึงปัญหาโรคต่างๆ ที่ตามมา ในช่วงที่กระแสฟุตบอลโลก 2022 กำลังลุ้นสุดขีด แต่อีกด้านหนึ่งของตำนาน นักฟุตบอลศูนย์หน้าของทีมชาติบราซิล ‘เปเล่’ ในวัย 82 ปี ที่ป่วยด้วยมะเร็งลำไส้ ขณะนี้ ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด จนทำให้แพทย์หยุดการทำเคมีบำบัด และเปลี่ยนมาเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของร่างกาย

การรักษาการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลสุขภาพที่มีมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และครอบครัว ลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การดูแลแบบประคับประคองมีไว้สำหรับทุกคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรังที่จำกัดการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง โรคปอด หรือภาวะสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) เป็นต้น

สุขภาพแข็งแรง

การรักษาแบบประคับประคองนี้มันจะถูกพูดถึงจากการรักษาอาการป่วยของคนดังต่างๆ และได้รับความนิยมจากคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพธุรกิจ พาเจาะลึกว่าการรักษาแบบประคับประคองดียังไง

Palliative Care ดูแลเพื่ออยู่กับโรคได้

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  นิยามการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)ไว้ว่าคือการดูแลที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และปรับปรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการดูแลรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคเอง  และ/หรืออาการข้างเคียงอื่นๆจากการรักษาโรคก็ได้  ดังนั้นการดูแลรักษาแบบประคับประคอง จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การดูแลตามอาการ (Supportive care)

การดูแลแบบประคับประคองนั้น สามารถทำได้ทั้งที่บ้าน, โรงพยาบาล หรือในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม โดยขึ้นกับอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะติดเชื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลเนื่องจากต้องให้การรักษาหรือให้ยาทางหลอดเลือด หรือสาเหตุอื่น จนเมื่ออาการของผู้ป่วยสงบลง ก็อาจกลับมาดูแลที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยและบริบทของครอบครัว

ดูแลจนกระทั่งความต้องการครั้งสุดท้าย

การดูแลแบบประคับประคอง ดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการรักษารวมถึง ความต้องการครั้งสุดท้าย (The living will) หมายถึง การจัดเตรียมเอกสารเพื่อระบุความต้องการของตนเอง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางด้านการแพทย์เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจวางแผนการรักษา อาทิเช่น การใช้หัตถการเพื่อยื้อชีวิตออกไป ในกรณีที่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วความสำคัญของความต้องการครั้งสุดท้ายจะมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพิจารณาให้การช่วยเหลือเพื่อยื้อชีวิต หรือปล่อยให้เสียชีวิตตามกลไกธรรมชาติโดยไม่ต้องยื้อเวลาออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต ซึ่งไม่มีความสามารถพอที่จะเลือกหรือตัดสินใจได้เอง