วายร้ายใกล้ตัวมะหมา พยาธิเม็ดเลือดในสุนัข E.canis

ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา “พยาธิเม็ดเลือดในสุนัข” ทาสหมามือโปรหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับโรคนี้ดี

เมื่อพบน้องหมาเลือดกำเดาไหล ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ก็จะนึกเชื่อมโยงไปถึงโรคพยาธิเม็ดเลือดเป็นอันดับแรก ๆ แต่โรคนี้มันคืออะไรกันแน่ พยาธิเม็ดเลือดที่เราเรียก ๆ กันมันคือพยาธิอะไร และทำไมมันถึงรักษายากเย็น บางตัวเป็นแล้วเป็นอีกรักษาไม่หายสักที มาทำความรู้จักกับเจ้าวายร้ายใกล้ตัวมะหมาให้มากขึ้นในบทความนี้ได้เลย

จุดเริ่มต้นของพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

คำว่าพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขเป็นคำที่เรียกรวม ๆ กัน ของโรคที่เกิดจากกลุ่มเชื้อก่อโรคที่แอบอยู่ในเม็ดเลือดของสุนัข ได้แก่ Babesia sp., Hepatozoon sp. และ  Ehrlichia sp. มีชื่อคุ้น ๆ สักชื่อไหมคะ ใช่แล้ว เจ้า E.canis ที่คุณหมอชอบพูดถึงนั่นเอง (E มาจาก Ehrlichia) และในบทความนี้เราจะกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขที่เกิดจาก E.canis เท่านั้น

การเลี้ยงสุนัขในบ้าน

แล้วสุนัขของเราไปติดพยาธิเม็ดเลือด E.canis มาจากที่ไหน??

โรคนี้มากับศัตรูตลอดกาลของสุนัข “เห็บ” วายร้ายตัวเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นดิน ฝาผนังบ้านหรือมุมอับชื้นต่าง ๆ เช่น รอยแยกของฝาผนัง พื้นดิน ซอกกรง สนามหญ้า

เห็บ (Rhipicephalus sanguineus หรือ Brown dog tick) ขึ้นมาบนตัวสุนัขเพื่อมาหากินและหาคู่ เรียกได้ว่าบนตัวสุนัขก็คือรังรักของเห็บดี ๆ นั่นเอง ในขั้นตอนการหากินของเห็บ เมื่อเห็บที่มีเชื้อ E.canis ดูดเลือดสุนัข เชื้อจะถูกถ่ายทอดผ่านทางน้ำลายของเห็บเข้าไปสู่ร่างกายของสุนัข

หลังจากเห็บตัวเมียผสมพันธุ์บนตัวสุนัขเสร็จ ตัวเมียก็จะลงไปวางไข่บนพื้น การวางไข่แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้มากถึง 5,000 ฟอง หลังจากวางไข่เสร็จตัวเมียก็ตายไป หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมลูกหลานเห็บก็จะเจริญเติบโต รอคอยวันที่จะได้ไปหากินและหาคู่บนตัวของสุนัข เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขอาการเป็นอย่างไร

อาการยอดฮิตที่เจ้าของสุนัขสามารถสังเกตเห็นได้หากสุนัขติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดก็คือ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ สุนัขเลือดกำเดาไหล

ความรุนแรงของโรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถแบ่งตามระยะเวลาของการติดเชื้อได้ดังนี้

  • ติดเชื้อมาแล้ว 8-20 วัน จะเรียกระยะนี้ว่าการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน สุนัขจะแสดงอาการ อ่อนแรง เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด เลือดกำเดาไหล บางตัวพบจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechial and ecchymotic hemorrhages) บางตัวพบอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ เมื่อตรวจเลือดมักพบภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ
  • ติดเชื้อมาแล้วมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป บางตัวอยู่ในระยะนี้นานเป็นปี หากสุนัขไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สุนัขจะเข้าสู่ระยะป่วยแต่ไม่แสดงออก (Subclinical) ซึ่งในระยะนี้หากตรวจเลือดมักจะพบว่าสุนัขมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย แต่จะไม่แสดงอาการอื่น ๆ ให้เจ้าของเห็น
  • ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดเรื้อรัง สุนัขตัวไหนที่พัฒนาโรคมาจนถึงระยะนี้โรคจะมีความรุนแรงทำให้สุนัขถึงแก่ชีวิตได้ อาการที่สุนัขแสดงออกมาจะเหมือนกับระยะเฉียบพลันคืออ่อนแรง เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด  เลือดกำเดาไหล มีอาการทางประสาท ร่วมกับการติดเชื้อในอวัยวะอื่น ๆ ม้ามโต เลือดไหลไม่หยุดนานขึ้นและบ่อยขึ้น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน ปัสสาวะมีเลือด กล้ามเนื้ออักเสบ กดการทำงานของไขกระดูกซึ่งส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

จะเห็นได้ว่าอาการของการติดเชื้อระยะเฉียบพลันกับอาการของการติดเชื้อระยะเรื้อรังมีความคล้ายคลึงกันจนบางครั้งก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ด้วยตาเปล่า คุณหมอจำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติเพิ่มเติมจากเจ้าของสุนัขและตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและการพยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น