กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ต่างจากต่างจังหวัด

Highlight

  • เขตพระนครมีสัดส่วนระหว่างจำนวนโรงเรียน 2.91 แห่ง ต่อ 1,000 ประชากร ซึ่งถือว่ามากที่สุด มีโรงเรียนมัธยมสังกัด สพฐ. มากที่สุด และมีจำนวนนักเรียนต่อครูน้อยที่สุด ขณะที่มีจำนวนประชากรอายุ 0-18 ปี น้อยเป็นอันดับที่ 5
  • เขตที่มีจำนวนประชากรต่อ 1 โรงเรียนมากที่สุดคือ คันนายาว 7,971 คน เพราะมีโรงเรียนสังกัดรัฐบาลรวม 2 แห่ง แต่มีประชากรอายุ 0-18 ปี ถึง 15,942 คน
  • เขตพระนครซึ่งมีจำนวนประชากรวัยเรียนน้อย มีจำนวนโรงเรียนมาก และมีสัดส่วนระหว่างครูกับนักเรียนและห้องเรียนน้อยถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า มีคะแนนโอเน็ตมากกว่าและเป็นที่ต้องการมากเป็นลำดับต้นๆ
  • 3 เขตที่ไม่มีโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัด สพฐ.เลย ได้แก่ เขตคลองสาน คันนายาว บางคอแหลม

เมื่อเปรียบเทียบรายเขต อัตราส่วนเฉลี่ยนักเรียนต่อห้องเรียนระหว่างกลุ่มที่มากที่สุดและน้อยที่สุดก็ต่างกันราว 2 เท่า อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระหว่างอันดับที่มากที่สุดและน้อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 3 เท่า

หนึ่งในประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงในการพัฒนากรุงเทพฯ คือ การศึกษา ดังจะเห็นได้จากในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 พ.ศ.2520-2524 จนถึงแผนพัฒนาระยะ 20 ปี พ.ศ.2556-2575 ที่มักจะมุ่งพัฒนาโรงเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน และให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ โดยฉบับล่าสุดมุ่งหวังว่า “มีร.ร.สังกัด กทม.จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมทุกระดับชั้น และมีการใช้หลักสูตรท้องถิ่นกรุงเทพฯ”

เช่นเดียวกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มักจะหยิบยกประเด็นการศึกษามาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงอยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่มักเสนอว่า “พัฒนาโรงเรียนสังกัด กทม. ให้มีมาตรฐาน” ด้วยมิติต่างๆ กันไป เช่น เพิ่มการเรียนการสอนภาษาที่ 3 ร่วมด้วย

Rocket Media Lab ชวนสำรวจการจัดการศึกษาในเมืองหลวงแห่งนี้ เพื่อความเข้าใจสถานการณ์การจัดการศึกษาในกรุงเทพฯ ในขั้นแรกว่า โรงเรียนประถมฯ และมัธยมฯ กระจายตัวอย่างไรในแต่ละเขต สอดคล้องกับจำนวนประชากรมากน้อยเพียงใด แล้วที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณและมีปัญหาอย่างไรบ้าง

ข่าวการศึกษา-ปี2565
เรียนจบชั้นประถมฯ แต่ไม่มีโรงเรียนมัธยมฯ ให้ไปต่อ

การจัดการศึกษาของโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีโรงเรียนหลายประเภททั้งโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และมหาวิทยาลัย สำหรับโรงเรียนที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครจะได้รับงบประมาณจัดสรรจากกรุงเทพฯ ผ่านสำนักการศึกษาและสำนักงานเขต นอกจากนี้การพัฒนาการศึกษายังต้องเป็นไปตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล แผนการศึกษาแห่งชาติ 2560-2579 และแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปีอีกด้วย

ในปี 2564 กรุงเทพฯ มีสถานศึกษาชั้นประถมฯ และมัธยมฯ สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพฯ 437 แห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 158 แห่ง รวม 595 แห่ง ส่วนโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมี 825 แห่ง ซึ่งคิดเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา 729 แห่ง และโรงเรียนนานาชาติ 96 แห่ง

จำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 0-18 ปีของกรุงเทพฯ ในปี 2564 มีจำนวนทั้งหมด 957,781 คน เขตที่มีประชากรในกลุ่มนี้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คลองสามวา 44,992 คน หนองจอก 42,762 คน บางขุนเทียน 42,439 คน สายไหม 39,765 คน และประเวศ 38,304 คน ส่วนเขตที่มีประชากรน้อยที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ 2,453 คน บางรัก 4,826 คน ป้อมปราบศัตรูพ่าย 5,086 คน ปทุมวัน 5,763 คน พระนคร 6,173 คน