เปิด “ปฏิญญาเอเปก 2022” ไทยฉวยจังหวะเจรจาทวิภาคีเชื่อมเศรษฐกิจ

เปิด “ปฏิญญาเอเปก 2022” ไทยฉวยจังหวะเจรจาทวิภาคีเชื่อมเศรษฐกิจ

ทันทีที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ปิดฉากลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมผู้นำเอเปก ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนทั่วโลก ว่าการประชุมครั้งนี้ จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม

ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปกทั้งหมดที่ต้องการเห็นเอเปกยืนหยัดทำงานท่ามกลางสภาวการณ์โลกที่ผันผวน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำพร้อมคู่สมรสแขกพิเศษผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อต่างชาติ รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกได้เดินทางมาประชุมร่วมกันแบบพบหน้า

ในการประชุมครั้งนี้ผู้นำเอเปก ยังได้หารือกับแขกพิเศษ ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดี อาระเบีย อีกทั้งยังได้พูดคุยกับภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และรับฟังมุมมองจากผู้แทนเยาวชนจาก APEC Voices of the Future 2022 ด้วย

เศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้วว่า ทุกประเทศมีความเป็นห่วงในประเด็นนี้

ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ที่ทำให้ประเทศไทย ได้หน้าได้ตาจากการเป็นเจ้าภาพ คือ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ.2022 สะท้อนการทำงานของเอเปก 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ประการ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

ประการแรก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปกได้จัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปี เพื่อสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟแทป ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ ประการที่สอง “เชื่อมโยงกัน” เอเปกได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เพื่อให้พร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต ประการสุดท้าย “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปกได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

การเป็นเจ้าภาพเอเปกปี 2565 ของไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ไทยได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐฯ เจ้าภาพเอเปกในปี 2566 ต่อไป ในโอกาสนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอเปิดเนื้อหาของปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022

แนะนำข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติม : ธปท.เกาะติดเศรษฐกิจโลกชะลอ